‘เครือข่ายเอดส์-โรคไต’ เห็นด้วย เพิ่ม ‘กก.ฝั่งลูกจ้าง-นายจ้าง’ ใน บอร์ดแพทย์ สปส.
The Coverage • Movement • 4 พฤศจิกายน 2567
“มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ – สมาคมเพื่อนโรคไต” เห็นด้วย เพิ่มสัดส่วนกรรมการบอร์ดการแพทย์ ประกันสังคม จากฝั่งลูกจ้าง-นายจ้าง แต่ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่เข้าไปเป็นไม้ประดับ
จากประเด็นที่มีหลายภาคส่วนต้องการผลักดันให้คณะกรรมการฝ่ายผู้ประกันตน และฝ่ายนายจ้าง จากคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เข้ามาขับเคลื่อนและทำงานเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดการแพทย์) สปส. เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง พิจารณาในประเด็นสวัสดิการต่างๆ ของผู้ประกันตน ที่เกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ร่วมกับบอร์ดการแพทย์ สปส. นั้น
ล่าสุด นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเลขาธิการชมรมพิทักษ์ผู้ประกันตน ให้ความเห็นกับ “The Coverage” ถึงประเด็นดังกล่าวว่า หากมีสัดส่วนผู้ประกันตน หรือเครือข่ายผู้ป่วยเข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ดการแพทย์ สปส. ก็จะช่วยเพิ่มสมดุลในเรื่องสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้กับผู้ประกันตนได้
ทั้งนี้ โดยเฉพาะการทำให้การพิจารณาประเด็นต่างๆ ทั้งการแก้กติกา การปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบริการทางการแพทย์มีความครอบคลุมมากขึ้น และสามารถสื่อสารได้โดยตรงไปที่บอร์ดการแพทย์ สปส. ที่ประชุมร่วมกันได้เลย เช่น กรณีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นผู้ประกันตนที่มีกว่า 4 หมื่นคนในระบบประกันสังคม หากมีเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าไปพิจารณาและกลั่นกรองสวัสดิการ ก็จะช่วยให้ฝ่ายนโยบาย รวมถึงฝ่ายผู้ให้บริการ หรือ Provider ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และแก้ปัญหา หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้งานด้านการรักษาพยาบาลของระบบประกันสังคมมีคุณภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการเพิ่มสัดส่วนบอร์ดการแพทย์ สปส. ในส่วนผู้ประกันตน หรือเพิ่มเครือข่ายผู้ป่วยผู้ประกันตนเข้าไปด้วย ก็อยากให้เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าไปเป็นไม้ประดับให้กับบอร์ดการแพทย์ชุดนี้
“ส่วนตัวผมเห็นด้วย และเห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาสวัสดิการที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และเรื่องสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้ประกันตน เพราะโรคที่เกิดจากการทำงาน ทั้งโรคทางกาย ทางใจ และโรคเรื้อรังต่างๆ ก็ควรจะมีเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ และขับเคลื่อนเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเลขาธิการชมรมพิทักษ์ผู้ประกันตน ระบุ
ด้าน นายธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับ “The Coverage” ถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกันว่า การเพิ่มสัดส่วนผู้ประกันตน หรือเครือข่ายผู้ป่วยในบร์การแพทย์ สปส. จะทำให้บอร์ดการแพทย์ สปส. มีประสิทธิภาพในการกลั่นกรองพิจารณาเรื่องต่างๆ ของผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้นแน่นอน
รวมถึงจะเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกันตนที่หากได้เข้าไปร่วมพิจารณาในบอร์ดการแพทย์ สปส. ก็จะได้เรียนรู้กระบวนการพัฒนานโยบาย อีกทั้งยังได้ทักท้วง นำเสนอ และแลกเปลี่ยนร่วมกันในประเด็นต่างๆ เพื่อพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตนได้ดีมากยิ่งขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการเพิ่มสัดส่วนกรรมการในบอร์ดการแพทย์ สปส. จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่อาจเป็นเรื่องยาก แต่หากมองถึงผลลัพธ์ ที่จะช่วยให้ประชาชน ผู้ประกันตนได้มีสิทธิมีเสียงในการร่วมออกแบบ และมีส่วนร่วมนจัดการด้านสุขภาพของผู้ประกันตนเอง ก็เชื่อว่าเป็นทิศทางที่ดี และมีน้ำหนักพอที่จะให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนบอร์ดการแพทย์ สปส. อย่างจริงจัง” นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวในตอนท้าย