สมาคมเพื่อนโรคไตฯ หนุนบำบัดไตที่บ้านด้วยการ
‘ล้างไตผ่านช่องท้อง’ APD ลดเสี่ยงหลายด้าน
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เผยจุดยืนต่อนโยบายการล้างไตของระบบหลักประกันสุขภาพฯ หนุนการล้างไตผ่านช่องท้อง(PD) สามารถทำได้ที่บ้าน มีเทคโนโลยีใหม่ ลดปัญหาหลังผลศึกษาพบล้างไตด้วยการฟอกเลือด (HD ) ทำผู้ป่วยเสียชีวิตสูงเกือบ 10,000 ราย
จากกรณี Hfocus เผยแพร่ผลการศึกษาโดยสรุป “คณะทำงานพัฒนานโยบายการล้างไต ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่จะมีการเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ โดยเสนอให้มีการปรับระบบวิธีการล้างไต หลังจากมีการติดตามผลการเปลี่ยนนโยบายรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากเดิม “ล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก” เป็น “ล้างไตด้วยวิธีใดก็ได้” พบว่า ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยการฟอกเลือด(HD) มากขึ้น เสียชีวิตสูงกว่าการล้างไตผ่านช่องท้อง(PD) และยังก่อภาระงบประมาณสูง 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น
ล่าสุดวันที่ 2 พฤศจิกายน นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เขียนบทความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า
สิทธิประโยชน์ดีๆของผู้ป่วยโรคไต
ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) สิทธิประโยชน์ดีๆ จาก 30 บาทรักษาทุกที่
• สะดวก เพิ่มคุณภาพชีวิต
• ให้ยืมเครื่องล้างไตไปใช้ที่บ้าน
• ส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน
• จากที่ต้องล้างไต 3-4 รอบต่อวันลดเหลือ 1 ครั้งต่อวัน
• ทำได้เองที่บ้านขณะนอนหลับ
เหมาะสำหรับ
• นักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน กลางวันใช้ชีวิตได้ตามปกติ เรียนได้ ทำงานได้ ไม่เป็นภาระผู้ดูแล
• ผู้สูงอายุ มีเวลาพักผ่อนได้เต็มที่ ลดภาระผู้ดูแล
พลิกโฉมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคไต
จุดยืนของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยในการสนับสนุนการล้างไตทางช่องท้อง
สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐและภาคีอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาสุขภาพด้านโรคไต นโยบายการบำบัดไตที่บ้าน และทำให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการเลือกรูปแบบการดูแลฟอกไต ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านนโยบายการล้างไตทางช่องท้อง (PD) สำหรับผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนการล้างไตที่บ้านและช่วยลดค่าใช้จ่ายของสังคม
จากข้อมูลเผยแพร่ในการประชุม Dialysis weekend 2024 ได้กล่าวถึงผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบำบัดทดแทนไตของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการฟอกเลือด (HD) อาทิ การรอทำเส้นเลือดฟอกเลือด คุณภาพและมาตราฐาน บุคลากรทางการแพทย์ อื่นๆทำให้สถานการณ์ผู้ป่วยไตเรื้อรังในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
จากข้อมูลของ สปสช พบว่ามีการเสียชีวิตของผู้ล้างไตโดยวิธีฟอกเลือดหลังเปลี่ยนนโยบายเกือบ 10,000 ราย คิดเป็นอัตราที่สูงขึ้น ในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตภายใน 90 วันหลังจากเริ่มเข้าการรักษา นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยฟอกเลือดมีผลกระทบต่อการบริหารในหลายๆด้านต่อภาครัฐเป็นอย่างมาก
จากแนวทางของรัฐมุ่งเน้นการรักษาตนเองที่บ้าน การล้างไตทางช่องท้องจึงเป็นการบำบัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและควรได้รับการสนับสนุนเป็นทางเลือกของการรักษา สิ่งนี้ส่งผลดีต่อผู้ป่วยไม่เฉพาะในชุมชนห่างไกลหรือในชนบทที่ต้องเดินทางไกลเพื่อการฟอกเลือด แต่ยังมีความสะดวกในการดำรงชีวิตของผู้ป่วยในเมืองเช่นกัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ เพื่อให้ความรู้และตัดสินใจร่วมกันในการฟอกไต (Share Decision Making) สำหรับประเทศไทยแสดงให้เห็นอัตราส่วนความคุ้มค่าของการรักษาด้วยวิธี PD มีความคุ้มค่ามากกว่า HD
การล้างไตด้วยวิธีใหม่
การล้างไตด้วยวิธีใหม่และเทคโนโลยีดิจิทัลของการบำบัดที่บ้าน ในปี พ.ศ. 2564 สปสช มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์การฟอกไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติ (APD) ตามโครงการสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และในปี 2566 สำนักงานประกันสังคมก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ APD ด้วยเช่นกัน ประโยชน์ของการฟอกไตทางช่องท้องด้วยวิธี APD ได้รับการเผยแพร่ในวงการแพทย์ ไม่เฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแต่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกด้วย
นอกจากนี้ APD ยังมีระบบติดตามผู้ป่วยระยะไกลซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวกในการติดตามการรักษา อันส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การใช้ทรัพยากรในการรักษาลดลงและทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้นอีกด้วย
จากประเด็นข้างต้น สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย มีจุดยืนในการสนับสนุน การมุ่งเน้นการรักษาที่บ้าน ภาครัฐควรกำหนดแนวทางโดยตั้งเป้าสัดส่วนของผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตได้รับการรักษาบ้านโดยเครื่อง APD และ CAPD มีการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ทรัพยากรในการดูผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยมีความคุ้มค่าสูงสุด