ภัยเงียบ โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs และสถานการณ์โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ปี 2567 เน้นเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภค

ภัยเงียบ โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs

และสถานการณ์โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ปี 2567 เน้นเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภค

เวลา 09.30 – 12.00 น. (28 พฤศจิกายน 2567) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย : นายธนพลธ์ ดอกแก้ว  นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย  ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหาร 2567 สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป  จำนวน 302 ตัวอย่าง และเครื่องปรุงรส จำนวน 105 ตัวอย่าง  ได้จัดแถลงข่าวเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนภัยใกล้ตัว  จากภัยเงียบโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs  โดยมีวัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูฉลากอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

2. เพื่อรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร

3. เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจ 

4. เพื่อสำรวจการแสดงข้อมูลโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารของเครื่องปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว  และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

ด้วยปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก เพราะมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ และสามารถเตรียมเสร็จพร้อมรับประทานได้ภายใน 3 นาที  อาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ด้วยปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารเพื่อรับประทาน อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือโซเดียม และไม่ว่ารสชาติเดิมจากผลิตภัณฑ์จะอร่อยแค่ไหน บางคนก็หนีไม่พ้นกับการปรุงเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง ผงปรุงรส  ซึ่งปกติคนเราหากกินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

ด้านนางสาวศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า จากผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 302 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น จำนวน 236 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 –7,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 1,425.75 ส่วน กลุ่มประเภท โจ๊ก ข้าวต้ม จากการสำรวจฉลาก จำนวน 47 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 587.28 และ กลุ่มประเภท ซุปต่างๆ จำนวน 19 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 170 – 810 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 471.58

ส่วนผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 102 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 4 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้ ประเภท ซอส ซีอิ้ว น้ำมันหอย น้ำปลา จำนวน 69 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 85-2,560 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 841.09 , ประเภท น้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ จำนวน 20 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 65-1,490 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 608.15 , ประเภท ผงปรุงรส จำนวน 6 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 10-950 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 409.34 , ประเภท เนย ชีส จำนวน 10 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 55-280 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ค่าเฉลี่ย 174.50

นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของ World Instant Noodles Association ปี 2566 คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปริมาณ 3,950 ล้านเสิร์ฟ เป็นอันดับ 9 ของโลก ในยุคแห่งการดำรงชีวิตที่เร่งรีบ หลายคนชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะอิ่มท้อง ปรุงง่าย และรสชาติอร่อย แต่ก็จัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการ“กินเค็มมากเกินไป” ทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโรคไตวายตามมาได้ จากโครงการสำรวจครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” มีคำแนะนำว่า การเลือกซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูปต้องเลือกที่ระบุชื่อของผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตอย่างชัดเจน มีเลขสารบบอาหาร ซึ่งแสดงว่าได้ขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าจาก อย.เรียบร้อยแล้ว ต้องบอกปริมาณเป็นระบบเมตริก เพื่อให้เปรียบเทียบกับสินค้าอย่างเดียวกัน แต่คนละยี่ห้อได้ ซึ่งจะทำให้ได้สินค้าที่สมกับราคา ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนทุกครั้ง และควรระวังเด็กๆ ที่ชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยไม่ได้ต้มก่อน เพราะเมื่อบะหมี่ตกถึงกระเพาะจะดูดน้ำจากส่วนอื่นของร่างกายทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ถ้ากินมากๆ และไม่ดื่มน้ำตามก็อาจจะเกิดอาการวิงเวียนหรือหน้ามืดได้

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคไต และหัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การลดบริโภคเกลือ(โซเดียม) มีผลดีต่อสุขภาพและยังช่วยลดค่ารักษาพยาบาลของประเทศ การรณรงค์ให้ได้ผลดีต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน และต้องใช้มาตราการต่างๆร่วมกันทั้งการสร้างความตระหนักรู้ การปรับสูตรอาหาร มาตรการทางกฎหมายและข้อบังคับเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนได้ดำเนินแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยปี 2559-2568 และตั้งเป้าหมายลดบริโภคเกลือโซเดียม 30% ในปี 2568 เพื่อคนไทยมีสุขภาพดี โดยจัดตั้งการให้บริการอาหารสุขภาพลดเค็มใน 83 โรงพยาบาล และชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งการให้บริการอาหารสุขภาพลดเค็มในมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งที่ศาลายาและพญาไท โดยการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค สอนผู้ประกอบการในการปรับสูตรอาหารเป็นเมนูทางเลือก และใช้เครื่องวัดความเค็มที่พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลในการทดสอบอาหาร นอกจากนี้เครือข่ายลดบริโภคเค็มยังร่วมมือกับเชฟอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยและสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทยได้มีส่วนร่วมในการจัดอาหารที่ดีต่อสุขภาพในร้านอาหาร ในส่วนอาหารอุตสาหกรรม พบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง ขนมกรุบกรอบ ยังมีปริมาณโซเดียมในระดับที่สูงมากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขควรเข้ามามีบทบาทในการกำหนดเพดานโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย รวมทั้งการควบคุมการตลาดของอาหารที่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ควรจัดเก็บภาษีโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินค่าที่ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมผู้ผลิตให้มีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อลดโซเดียม อย่างที่เห็นผลมาแล้วจากการจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่ม

โดยนายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในข้อมูลจากผลสำรวจ ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้รวบรวมปัญหาหลายๆด้านออกมาเป็นข้อเสนอดังนี้

ข้อเสนอต่อผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดภาวะเลี่ยงเกิดโรค NCDs

ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ 1. ให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 2. ให้ผู้ประกอบการจัดทำฉลากให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่าย 3.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทต้องมีฉลาก GDA

ข้อเสนอต่อหน่วยงาน 1. ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 2.สนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจ 3. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการอ่านฉลาก 4.ผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา (สุขภาพดีแต่วัยเด็ก) 5.ให้มีมาตรการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก 6.ให้มีกฎหมายควบคุมเพดานปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ 7.ให้ภาครัฐสนับสนุนและชดเชยสินค้าประเภทลดโซเดียม 8.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทมีฉลาก GDA

เว็บไซต์สมาคมเพื่อนโรคไตฯ: https://www.kfat.or.th/สอบถามข้อมูล โทร 02-2483735 ต่อ 124
facebook : เพจ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
ขอบคุณข้อมูล : สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ที่มา : สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
v
v
v
ด้วยความปรารถนาดีจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
ขอคำปรึกษาได้ที่นี่ !